วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2552

งานจักสานย่านลิเภา

ย่านลิเภานี้เป็นศิลปะเก่าแก่ของบรรพบุรุษเรา แล้วก็วัตถุดิบก็เกิดขึ้นเองภายในประเทศคือ ทางภาคใต้ที่ฝนตกมากตัวย่านลิเภานั่นก็คือเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งที่ขึ้นเอง รกโดยธรรมชาติ ใต้ต้นยาง ใต้สวนยางปิดดินให้ชุ่มชื้น และที่ภาคใต้ใช้ได้ดีเพราะว่าฝนตกมาก ทำให้เกิดความเหนียว ทำให้เส้นเหนียว และอยู่ได้เป็นร้อยปี อันนี้ที่คนญี่ปุ่นบอกว่าเป็นลักษณะพิเศษของย่านลิเภา ถ้าแม้นว่าทิ้งให้แก่กับต้นแล้ว ใยของเขาจะเหนียวอยู่ได้เป็นร้อยปี โดยที่ไม่มีตัวแมลงมากัดกินเลย เพราะฉะนั้นพูดได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเมืองไทย พระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ 11 สิงหาคม 2524 จากพระราชเสาวนีย์ข้างต้นนั้นจัดได้ว่า เป็นจุดริเริ่มที่ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นภาคใต้รู้จักและหันมาสนใจแปรรูป “ย่านลิเภา”หรือ “หญ้าลิเภา”ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นกันมากขึ้น สำหรับ“ย่านลิเภา”นั้นเป็นพืชประเภทเถาวัลย์ มีลักษณะเป็นเถา ลำต้นจะโตประมาณก้านไม้ขีด หรือหลอดกาแฟ เมื่อโตเต็มที่จะยาวประมาณ 2 วา ใบของย่านลิเภาจะมีลักษณะเป็นใบเล็กๆ และหงิกงอชอบขึ้นอยู่ตามชายป่าละเมาะ และจะเลื้อยขึ้นพันอยู่กับต้นไม้อื่นๆ เกาะอยู่เหนือต้นไม้อื่น จึงทำให้มองเห็นได้ง่าย มีมากทางภาคใต้ แหล่งที่พบมาก คือ ที่จังหวัด นครศรีธรรมราช สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เป็นต้น โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งถือได้ว่ามีกลุ่มคนมีฝีมือเรื่องงานจักสานย่านลิเภาอยู่มาก จึงมีกลุ่มจักสานย่านลิเภาเกิดขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราชหลากหลายกลุ่ม ซึ่งล้วนแต่มีเอกลักษณ์และความงดงามโดดเด่นเฉพาะกลุ่มกันไป เช่นที่ ห้างเพชรทองบุญรัตน์ และกลุ่มจักสานย่านลิเภาบ้านหนองบัว ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งล้วนแต่เป็นแหล่งผลิตสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดในฐานะเป็นOTOPระดับ 5 ดาว การนำย่านลิเภามาดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้หลักจากการทำผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาตกเดือนละหลายพันบาท ด้วยความที่มีคุณสมบัติพิเศษของย่านลิเภาคือ มีลำต้นเหนียว ทนทาน จึงเหมาะที่จะนำมาสานเป็นภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ เช่น กระเป๋าถือ เชี่ยนหมาก กระเป๋าหนีบ เป็นต้น กว่าที่เราจะได้ผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภาสักชิ้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก เพราะมีกรรมวิธีและขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนไม่แพ้ง่ายหัตถกรรมชนิดอื่นเริ่มตั้งแต่นำย่านลิเภามาฉีกให้เป็นเส้น แล้วนำไปแช่น้ำให้ชุ่ม นำขึ้นมาฉีกให้เป็นเส้นฝอยๆ นำฝากระป๋องนมมาเจาะ 5 รู ให้มีขนาดเรียงลำดับจากช่องใหญ่ไปยังช่องเล็ก ที่สุด นำย่านลิเภาที่เป็นเส้นฝอยมารูดทีละช่องจนถึงช่องที่เล็กสุด จะได้ลิเภาเส้นเล็ก ทำทีละมากๆ เพื่อความสะดวกในการนำไปใช้ โดยส่วนที่ ยังไม่ใช้ให้ใส่ถุงพลาสติกแช่ในตู้เย็นเพื่อเก็บความชื้นไว้ จะง่ายต่อการสานเพราะเมื่อเส้นลิเภาแห้งจะสานได้ยาก จากนั้นใช้หวายเป็นแกนนำในการสาน โดยนำฝากระป๋องนมมาเจาะ 5 รู ให้มีขนาดเรียงลำดับจากช่องใหญ่ไปยังช่องเล็กสุด คนละอันกับฝากระป๋องนมสำหรับทำเส้นลิเภา เมื่อได้หวายตามขนาดที่ต้องการนำหวายมาขดเป็นวงรีเพื่อทำก้นกระเป๋าหรือผลิตภัณฑ์ นำเส้นลิเภาที่เตรียมไว้มาสาน โดยใช้เหล็กปลายแหลมเจาะนำที่หวายให้เป็นรู แล้วนำเส้นลิเภาสอดเข้าไป โดยใช้วิธีสานสลับเดินหน้า เวลาสานมุมโค้งต้องใช้ความละเอียด สานจนได้ขนาดกระเป๋าหรือผลิตภัณฑ์ตามต้องการ เมื่อสานก้นกระเป๋าหรือผลิตภัณฑ์ขนาดที่ต้องการแล้ว นำหวายมาขดเป็น วงรีวางให้เหลื่อมกับก้นกระเป๋าหรือผลิตภัณฑ์ เพื่อขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ ถ้าต้องการ ให้มีลวดลายใช้วิธีสานกลับด้านเส้นลิเภา ซึ่งจะมีสีอ่อนกว่าเล็กน้อย ระหว่างสาน ใช้มีดขูดเส้นลิเภาเพื่อเพิ่มความเรียบ สำหรับการทำฝากระเป๋า การขึ้นต้นแบบเดียวกับการขึ้นก้นกระเป๋า เมื่อสานย่านลิเภาได้ 2-3 รอบ วางเส้นหวายชั้นต่อไปให้เหลื่อมเหมือนเป็นชั้นลายพื้นก็ได้ สำหรับขนาดก็ขึ้นอยู่กับตัวกระเป๋า ขอบฝาวางหวายในลักษณะเดียวกับการขึ้นก้นกระเป๋าให้มีขนาดกว้าง 1 นิ้ว สานหูกระเป๋าโดยใช้หวายเป็นแกน 2-3 เส้น สานลิเภาสลับกันให้เป็นลายขดกันให้เป็นเส้นโค้ง เมื่อได้ตัวกระเป๋าหรือผลิตภัณฑ์แล้วนำไปกรุผ้าไหมหรือผ้ากำมะหยี่ขั้นตอนสุดท้ายนำไปติดเครื่องทองเหลือง หรือถมทองตรงที่เปิดปิดและบานพับด้านหลังขั้นตอนทั้งหมดนี้ต้องใช้ความพยายาม ความอดทนอย่างยิ่งจึงจะได้มาซึ่งชิ้นงานสักหนึ่งชิ้นที่ทรงคุณค่าและปราณีต สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภาแต่ยังเกรงอยู่ว่าจะยากต่อการเก็บรักษามีเคล็ดลับคือเมื่อซื้อผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาไปใช้แล้วนั้นหลังใช้ให้เช็ดด้วยผ้าสะอาดชุบน้ำหมาดๆ นำมาผึ่งแดดประมาณ 20-30 นาที และเก็บใส่ถุงให้มิดชิดและอย่านำสิ่งของวางทับบนเครื่องจักสานย่านลิเภาเพราะจะทำให้เสียรูปทรงได้
ที่มาhttp://www.lcc.ac.th/forum/board_posts.asp?FID=187

ไม่มีความคิดเห็น: